Generation ที่ 10 (พ.ศ. 2535 - 2541) ของ โตโยต้า_โคโรน่า

โตโยต้า โคโรน่า โฉมที่ 10

ที่ผ่านมา รถญี่ปุ่น มักจะถูกออกแบบโดยจำกัดความกว้างไว้ไม่ให้เกิน 1.7 เมตร และเครื่องยนต์พิกัดไม่เกิน 2000 ซีซี ด้วยเหตุผลทางภาษีในประเทศญี่ปุ่น แต่ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเติบโต คู่แข่งทั้งหมดต่างพัฒนารถของตนออกมามีแนวโน้มใหญ่ขึ้น และในที่สุดคู่แข่งรายใหญ่อย่างฮอนด้า แอคคอร์ด และมิตซูบิชิ กาแลนต์ ก็ยอมจ่ายภาษีแพงโดยเพิ่มความกว้างและเพิ่มขนาดเครื่องยนต์ออกไปเกินพิกัดดังกล่าว รวมถึงนิสสันก็ส่ง เซฟิโร่ ซึ่งมีขนาดเกินพิกัดลงมาเช่นกัน แต่โตโยต้าประเทศไทยเลือกที่จะนำเข้า โตโยต้า คัมรี่ จากออสเตรเลียซึ่งมีขนาดเกินพิกัดลงมาต่อสู้กับคู่แข่งรายอื่นๆ แล้วให้โคโรน่ายังตรึงขนาดอยู่ที่พิกัดเดิม

เมื่อคู่แข่งทั้งตลาดต่างล้วนเพิ่มขนาดเกินพิกัด ยกเว้นเพียงโคโรน่ารุ่นเดียว ทำให้โคโรน่าหลุดจากสถานะเดิมไปโดยปริยาย โดยสถานะเดินที่โคโรน่าเคยอยู่นั้นมีคัมรี่มาแทนที่ ส่วนโคโรน่าถูกลดสถานะกลายเป็นรถที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง โคโรลล่า (C-Segment) กับ คัมรี่ (D-Segment) หรือบางครั้งมักจะถูกเรียกว่า C-D Segment จึงถือว่าโคโรน่าโฉมนี้อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่ารุ่นก่อนๆ ที่ผ่านมา ทำให้ผู้สนใจในยานยนต์ที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลรถรุ่นก่อนปี 2536 มักจะเข้าใจแบบเหมารวมว่า โคโรน่า ไม่ใช่และไม่เคยเป็นรถระดับเดียวกับแอคคอร์ด กาแลนต์และมาสด้า 626 ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ครั้งหนึ่งโคโรน่าและบลูเบิร์ดเคยอยู่ในระดับเดียวกันกับคู่แข่งเหล่านั้น แต่มาเปลี่ยนในช่วงรุ่นนี้เท่านั้น

รหัสตัวถัง T190 เปิดตัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 แต่ประเทศไทย มาใน พ.ศ. 2536 โดยรุ่นแรก ตลาดรถจะเรียกว่า "ท้ายโด่งไฟแถบ" มีตัวเลือก 3 รุ่น คือ

  • 1.6XLi เป็นรุ่นต่ำสุด เครื่องยนต์ 4A-FE เกียร์ธรรมดา 5 สปีด เบาะพลาสติก ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ล้อกระทะเหล็ก 14 นิ้ว ฝาครอบแบบเต็ม ยางขนาด 185/65R14
  • 1.6GLi เป็นรุ่นกลาง เครื่องยนต์ 4A-FE เกียร์ธรรมดา 5 สปีด เบาะพลาสติกสลับกำมะหยี่ พนักพิงศีรษะเบาะหลังปรับสูงต่ำได้, ลิ้นชักใต้เบาะคู่หน้า, ไฟอ่านแผนที่, พวงมาลัยพาวเวอร์ผ่อนแรง
  • 2.0GLi เป็นรุ่นท็อป เครื่องยนต์ 3S-FE เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และอัตโนมัติ 4 สปีด เบาะกำมะหยี่ล้วน, ไฟหน้าเปิด-ปิดอัตโนมัติ, กล่องเก็บของกลางเบาะคู่หน้าแบบ 2 ชั้น, กระจกข้างปรับไฟฟ้า, แผงควบคุมระบบประอากาศแบบปุ่มกด, ดิสก์เบรก 4 ล้อ, ไฟตัดหมอกหน้า, ล้ออัลลอย 14 นิ้ว ยางขนาด 195/60R14, ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS)

ต่อมาได้ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์เป็นรุ่น "ท้ายโด่ง ไฟแยก" เพิ่มตัวเลือกรุ่น 1.6GLi เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด เป็นตัวเลือก ที่เหลือเหมือนเดิม และโคโรน่ารุ่นนี้ถือเป็นรถรุ่นเดียวในประเทศไทยที่มีการถ่ายทอดสดงานเปิดตัวผ่านโทรทัศน์ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2535 หากไม่นับการเปิดตัวรถยนต์ที่เสนอข่าวในข่าวธุรกิจ หรือข่าวก่อนละคร

จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2539 ที่มีการปรับโฉมอีกครั้ง และตั้งชื่อรุ่นเป็น Corona Exsior มีจุดเด่นที่ให้ความปลอดภัย ระบบเบรกป้องกันล้อล็อกและถุงลมนิรภัยด้านผู้ขับขี่มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นต่ำสุด ซึ่งในขณะนั้น มีเพียงรถนำเข้าเท่านั้นที่จะมีความปลอดภัยดังกล่าวนี้ โตโยต้าบุกเบิกการติดตั้งระบบความปลอดภัยในรถระดับล่างประกอบในประเทศเป็นเจ้าแรก หลังจากนั้นเราจึงได้เริ่มเห็นยี่ห้ออื่นที่ประกอบในประเทศเช่น Galant Ultima ,Primera และ Cefiro A32 ติดตั้งตามมา โดยโคโรน่า เอ็กซ์ซิเออร์ มีตัวเลือกดังต่อไปนี้

  • 1.6GXi Manual / 1.6GXi Automatic
  • 2.0GXi Manual
  • 2.0SE.G Manual / 2.0SE.G Autonatic

นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2541 ยังได้มีการปรับเพิ่มอุปกรณ์ให้โคโรน่า โดยเพิ่มไฟหน้าฮาโลเจนมัลติรีเฟลกเตอร์, ลายไม้ในห้องโดยสาร, พวงมาลัย 3 ก้านแบบสปอร์ต และถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร แต่ราคาอยู่ที่ 9.5 แสนบาทซึ่งใกล้เคียงกับคัมรี่ ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อคัมรี่มากกว่าจึงต้องระงับการผลิตไปในปลายปี พ.ศ. 2542 เนื่องจากคู่แข่งได้เริ่มนำรถ D-Segment ขนาดใหญ่ขึ้นมาทำตลาด ทั้ง Honda Accord และ Nissan Cefiro A32 ในขณะที่มิตซูบิชิและมาสด้าต้องถอนตัวออกจากตลาดจากสภาพเศรษฐกิจที่รุนแรงในยุคนั้น และโตโยต้าก็นำเข้าคัมรี่จากออสเตรเลียมาจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ถ้าหากขายโคโรน่า เอ็กซิเออร์ต่อไปก็จะไปแย่งลูกค้ากับคัมรี่และโคโรลล่า จึงต้องปิดสายการผลิตไป

ใกล้เคียง

โตโยต้า ไฮลักซ์ โตโยต้า วีออส โตโยต้า คัมรี่ โตโยต้า โคโรลล่า โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ โตโยต้า พริอุส โตโยต้า ลีกคัพ 2561 โตโยต้า ลีกคัพ 2562 โตโยต้า คราวน์ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย